ออทิสติก ภาวะพัฒนาการช้ากว่านปรกติ ต้องทำอย่างไร

ออทิสติก ( Autistic spectrum disorder ) ความผิดปรกติของสมองโดยกำเนิด ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กช้ากว่าปรกติ เด็กออทิสติกต่างจากเด็กปัญญาอ่อน ต้องทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นออทีสติก 

ออทิสติก โรคเด็ก โรคสมองและประสาท

ออทิสติก ( Autistic spectrum disorder ) คือ ภาวะความผิดปรกติของสมองตั้งแต่กำเนิด มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครงสร้างหรือสารเคมีบางอย่างของสมอง ทำให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการของเด็ก ด้านภาษาและสังคม ซึ่งเด็กบางคนอาจมีลักษณะความผิดปกติที่พ่อแม่สามารถสังเกตได้ แต่ในเด็กบางรายไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน ออทิสติกพบได้บ่อยถึงร้อยละ 1 ซึ่งอาการต่างๆสามารถแสดงให้เห็นได้ชัดในเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป อาการเบื้องต้นเด็กขี้อาย รักสงบ หรือบางคนเข้าใจว่าเป็นเด็กสมาธิดี จดจ่อของเล่นได้นาน เด็กออทิสติกมักมีอาการที่ชัดเจนมากขึ้นเมื่ออายุ 3 ปี

ออทิสติกกับปัญญาอ่อน

ออทิสติกมีความต่างจากปัญญาอ่อน โดยหลายคนมักเข้าใจว่าออทิสติกกับปัญญาอ่อนเป็นภาวะเดียวกัน แต่จริงๆแล้วออทิสติกเป็นคนละภาวะกับปัญญาอ่อน สามารถแยกจากกันโดยการประเมินระดับสติปัญญา ( IQ test ) เด็กออทิสติก สามารถพบร่วมกับภาวะปัญญาอ่อนได้ร้อยละ 50 และในบางกรณีเด็กออทิสติก สามารถมีระดับสติปัญญามากกว่าคนปกติและมีความสามารถพิเศษในระดับอัจฉริยะ ( Autistic Savant ) เช่น ความสามารถในการจดจำเรื่องต่างๆ เช่น จำวันในปฏิทินได้ ความสามารถในการวาดรูป เป็นต้น

ลักษณะของเด็กออทีสติก

เด็กออทิสติกมักมีปัญหาเรื่องของพัฒนาการด้านภาษาและสังคม ซึ่ง คนรอบข้างและพ่อแม่ ต้องสามารถสังเกตพัฒนาการของลูกโดย สามารถสังเกตพัฒนาการของเด็กออทิสติก ได้ดังนี้

  • มีปัญหาพัฒนาการด้านภาษา เช่น พูดช้า พูดคำซ้ำๆ พูดด้วยภาษาที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ พูดติดๆ ขัดๆ พูดด้วยโทนเสียงที่ผิดปกติ พูดไม่ชัด
  • มีปัญหาพัฒนาการด้านสังคม และ การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เช่น ไม่สบตา ไม่มองหน้า ไม่สื่อสารแสดงความต้องการของตัวเอง ไม่แสดงอารมณ์หรือสีหน้า ชอบเล่นคนเดียวช ไม่สนใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับใคร ไม่สามารถสนทนากับผู้อื่นได้นานๆ ไม่มีเพื่อนสนิทตามวัย
  • มีปัญหาการพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่น ชอบทำกิจกรรมเดิมซ้ำๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง รับการเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยได้ เช่น ต้องใส่รองเท้าคู่เดิมสีเดิม เป็นต้น

การสังเกตุอาการของเด็กช่วยให้พ่อแม่ สามารถนำลูกเข้ารับการรักษา ซึ่งหากรักษาในระยะเริ่มแรกช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเด็กปกติที่สุด

สาเหตุของออทิสติก

สาเหตุของออกทิสติก สาเหตุมาจากความผิดปกติของโครงสร้างหรือสารเคมีบางอย่างของสมอง ซึ่งเป็นความผิดปรกติของเด็กตั้งแต่ในครรภ์ ซึ่งแบ่งได้เป็นสาเหตุจากพันธุกรรมและ ความผิดปรกติของสมองและระบบประสาท โดยรายละเอียด ดังนี้

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม เด็กที่มีพี่น้องเป็นโรคออทิสติกจะพบว่ามีความเสี่ยงต่อการป่วยโรคนี้มากกว่าคนปกติหลายสิบเท่าตัว หากนำโรคโมโซมของผู้ป่วยออทิสติกมาตรวจจะพบว่ามีความผิดปกติเมื่อเทียบกับคนทั่วไป
  • ความผิดปกติของสมองและระบบประสาท เด็กที่ป่วยเป็นโรคออทิสติกมักมีความผิดปกติของคลื่นสมองร่วมด้วยดังนั้นจึงจะพบว่ามีอาการชักเกร็งอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับไอคิวของเด็ก พบว่าหากไอคิวต่ำยิ่งมีโอกาสเกิดอาการชักเกร็งมากยิ่งขึ้น อีกสาเหตุหนึ่งคือการที่สารสื่อประสาทในเด็กป่วยออทิสติกมีความผิดปกติ ทำให้การทำงานของระบบประสาทด้อยกว่าคนทั่วไป จึงแสดงอาการผิดปกติทางร่างกายต่างๆ

การรักษาโรคออทิสติก 

โรคออทิสติกไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาด้วยการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในด้านต่างๆ เพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้ปกติมากที่สุด การรักษาออทิสติกสามารถทำได้ 3 วิธี คือ การกระตุ้นพัฒนาการ การปรับพฤติกรรมและการใช้ยาช่วย โดยรายละเอียด ดังต่อไปนี้

  • การกระตุ้นพัฒนาการ มีหลายวิธี เช่น การกระตุ้นระบบประสาทการรับความรู้สึก ( Sensory Integration ) การทำกิจกรรมบำบัด ( Occupational Therapy ) และการฝึกการพูด ( Speech Therapy )
  • การปรับพฤติกรรม เพื่อลดพฤติกรรมอันตรายต่างๆ เช่น การก้าวร้าว จากการไม่สามารถสื่อสารได้ตามที่ต้องการ
  • การใช้ยา ยาจะช่วยในการควบคุมสารเคมีในสมองให้มีความสมดุล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน ช่วยควบคุมอาการขาดสมาธิและอยู่ไม่นิ่ง

การป้องกันออทิสติก

ปัจจับันความรู้ทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคออทิสติกได้ เนื่องจากเป็นความผิดปกติของยีน บางรายอาจเกิดการติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์ สิ่งที่สามารถทำได้ คือ การลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้

  • การรักษาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ เช่น รับการตรวจสุขภาพและฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
  • งดการใช้ยาขณะตั้งครรภ์ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาต่างๆ

Last Updated on May 18, 2022