โรคพาร์กินสัน สันนิบาติลูกนก ภาวะร่างกายสั่นควบคุมไม่ได้

พาร์กินสัน สันนิบาตลูกนก เกิดจากความผิดปรกติของสมอง ทำให้มีอาการสั่น ไม่สามารถควบคุม ยังไม่มียารักษาโรคนี้ การรักษาใช้การประคับประครองตามอาการของโรค การป้องกันโรคพาร์กินสัน สันนิบาตลูกนก โรคสมอง โรคไม่ติดต่อ

โรคพาร์กินสัน เกิดจากระบบประสาทและสมองเกิดการเสื่อม เป็นโรคทางสมองที่พบมากที่สุดอันดับที่ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ จากสถิติของจำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทั่วโลกมีร้อยละ 1 ของกลุ่มคนที่มีอายุเกิน 65 ปี และสถิติการเกิดโรคพาร์กินสันในประเทศไทยพบผู้ป่วย 425 คนต่อประชากร 100,000 คน โรคพาร์กินสัน สมัยโบราณเรียก โรคสันนิบาตลูกนก ลักษณะของอาการสังเกตุจากอาการสั่นของร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่โด่งดังที่คนทั่วโลกรู้จัก คือ มูฮามัดอาลี นักชกมวยระดับโลก

สาเหตุการเกิดโรคพาร์กินสัน

สำหรับสาเหตุของโรคพาร์กินสันเกิดจากก้านสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเสื่อมจนไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของก้านสมองเสื่อมว่าเกิดจากอะไร แต่ทางการแพทย์เชื่อว่ามีปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดโรคพาร์กินสันได้ 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม โดยรายละเอียด ดังนี้

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม ผู้ป่วยที่มีญาติหรือพี่น้องคนในครอบครัวมีอาการป่วยโรคพาร์กินสัน จะมีความเสี่ยงสูงกว่าปรกติ
  • ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การกระทบกระเทือนทางสมอง การรับสารต่างๆเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อการเกิดโรคได้มากขึ้น

อาการผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยจะค่อยๆแสดงอาการของโรคและเห็นอย่างชัดเจนจากลักษณะความผิดปรกติของการควบคุมร่างกาย มีลักษณะ 3 อาการเด่น คือ อาการสั่น อาการเกร็ง และอาการเคลื่อนไหวช้า โดยรายละเอียด ดังนี้

  • อาการสั่น จะสั่นขณะที่อยู่เฉยๆ และหากเคลื่อนไหวอาการสั่นจะลดลงหรือหายไป และ มักเกิดขึ้นที่มือข้างใดข้างหนึ่ง
  • อาการเกร็ง จะมีอาการตึงบริเวรแขน ขาและลำตัว ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก และทำให้ปวดตามกล้ามเนื้อ
  • อาการเคลื่อนไหวช้า เนื่องจากอาการอ่อนแรง ทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายช้าลง ไม่ปรกติเหมือนคนทั่วไป

นอกจาก 3 อาการหลักๆ อาการเหล่านี้ยังส่งผลต่ออาการอื่นๆอีก เช่น น้ำลายไหล ร่างกายแข็งเกร็ง เดินลำบาก เดินซอยเท้า เท้าติดเวลาก้าวขา หกล้มง่าย  ความจำระยะสั้นไม่ค่อยดีในระยะต้น ความจำเสื่อมในระยะท้าย เหงื่อออกมาก ท้องอืด ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย ควบคุมการปัสสาวะไม่ได้ การรับรู้กลิ่นและรสไม่ดี มึนศีรษะเวลาลุก รวมถึงอาการทางจิตใจ ผู้ป่วยพาร์กินสันอาจมีอาการโรคซึมเศร้าด้วย

การรักษาโรคพาร์กินสัน

สำหรับการรักษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบันยังไม่มีสามารถรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาด หรือ หยุดยั้งอาการของโรคได้ ซึ่งแนวทางการรักษาในปัจจุบันเพียงการประคับประครองอาการของโรค โดยแนวทางการรักษา มีดังนี้

  • การรักษาด้วยยาตามอาการ เช่น ใช้ยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบโดพามีน
  • การรักษาด้วยการกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้และมีความสุขทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย ช่วยในเรื่องการเคลื่อนไหว ท่าเดิน ท่านั่ง การทรงตัว ตลอดจนการออกกายบริหารแก้ไขภาวะอื่นๆ เช่น หลังโกง ไหล่ติด ปวดหลัง ปวดเอว ปวดคอ ปวดขา เป็นต้น
  • การรักษาโดยการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก ( deep brain stimulation ) รักษาด้วยการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้า เพื่อไปกระตุ้นสมอง ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีอาการมากขึ้นจนการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล

การดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองจะลดลง แนวทางการดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน มีดังนี้

  • ต้องมีผู้ที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
  • ป้องกันการลื่นล้ม ดูแลสภาพแวดล้อมให้เหมาะแก่ผู้ป่วย
  • ฝึกการก้าวเดินเนื่องจากส่วนมากจะมีปัญหาเรื่องการเดิน อาจจะใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน
  • การออกกำลังกาย บริหารร่างกายส่วนต่างๆอย่างประจำสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นและป้องกันอาการโรคซึมเศร้า
  • ต้องระวังเรื่องท้องผูกเนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้จะไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่ายเองได้

โรคพาร์กินสัน หรือ สันนิบาตลูกนก เกิดจากความผิดปรกติของสมอง ทำให้ร่างกายมีอาการสั่น ไม่สามารถควบคุม ยังไม่มียารักษาโรคนี้ได้ แนวทางการรักษาใช้การประคับประครองตามอาการของโรค การดูแลผู้ป่วยพาร์กินสันต้องทำอย่างไร

Last Updated on March 18, 2021