ไข้กาฬหลังแอ่น มีไข้สูงกระทันหัน ผื่นแดง ปวดหัวอย่างรุนแรง

ไข้กาฬหลังแอ่น ไข้สูงอย่างกระทันหัน ตัวแดงเป็นผื่น เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อันตรายหากรักษาไม่ทัน ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ รักษาอย่างไร

ไข้กาฬหลังแอ่น โรคติดต่อ โรคติดเชื้อ

ไข้กาฬ หมายถึง โรคที่มีความรุนแรงที่มีผื่นสีดำขึ้นตามร่างกาย ส่วนคำว่า หลังแอ่น หมายถึง การอาการหลังแข็งเกร็ง มีอาการชัก

โรคไข้กาฬหลังแอ่น ( Meningococcal Meningitis ) ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย เมนิงไจทิดิส ( Neisseria meningitides ) เป็นเชื้อโรคที่สามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสสารคัดหลังของคนที่มีเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นการจาม การไอ ซึ่งโรคไข้กาฬหลังแิอ่นมักพบ 2 ลักษณะ คือ คือ ไข้กาฬหลังแอ่นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และ ไข้กาฬหลังแอ่นติดเชื้อในกระแสเลือด

  • ไข้กาฬหลังแอ่นติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดจากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและแพร่เข้าสู่กระแสโลหิต เมื่อเชื้อโรคเจือปนในเลือดและไหลเวียนไปตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและปวด ซึ่งลักษณะอาการค่อนข้างรุนแรง
  • ไข้กาฬหลังแอ่นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นภาวะต่อจากการติดเชื้อในการแสเลือด เมื่อเชื้อโรคไหลเวียนเข้าสู่สมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองเกิดการติดเชื้อ ทำให้สมองอักเสบ ส่งผลถึงกระดูกสันหลังด้วย

ไข้กาฬหลังแอ่นในประเทศไทย

สถานการณ์โรคไข้กาฬหลังแอ่นในประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นทุกปี ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2536 – 2552 มีรายงานผู้ป่วย 15 ถึง 74 รายต่อปี โรคนี้ไม่มีรูปแบบของการเกิดโรคตามฤดูกาลที่ชัดเจน โรคนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกกลุ่มอายุ แต่มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่อายุตํ่ากว่า 5 ปี มักพบในกลุ่มคนที่อาศัยอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นและแออัด สุขอนามัยไม่ดีนัก

สาเหตุของโรคไข้กาฬหลังแอ่น

โรคไข้กาฬหลังแอ่น เกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย เมนิงไจทิดิส ( Neisseria meningitides ) ซึ่งสามารถถ่ายทอดสู่คนอื่นๆได้ จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่เป็นพาหะนำโรคผ่านระบบทางเดินหายใจ จากการไอ การจาม การสัมผัสเสมหะ สัมผัสน้ำมูก สัมผัสน้ำลาย เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไข้กาฬหลังแอ่น มีดังนี้

  • การอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่เป็น โรคกาฬหลังแอ่น จะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ เพราะ สูดอากาศ และ เอาเชื้อแบคทีเรียที่มันกระจายอยู่ในละอองเสมหะ หรือ แม้กระทั่งน้ำลายของผู้ป่วย เมื่อจาม ไอ
  • การอยู่ใกล้แหล่งที่มีผู้ป่วย และ อยู่ในสถานที่แออัด ทำให้เชื้อแพร่กระจายง่าย
  • การใช้ของใช้ร่วมกับ ผู้ป่วย หรือ ผู้ที่มีพาหะ เช่น แก้ว ผ้าเช็ดหน้า แปรงสีฟัน

อาการของโรคไข้กาฬหลังแอ่น

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย เมนิงไจทิดิส ( Neisseria meningitides ) เข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวของโรคโดยเฉลี่ย 3 – 4 วัน ซึ่งโรคไข้กาฬหลังแอ่น จะมีลักษณะอาการที่สำคัญ อย่าง คือ มีไข้ มีผื่น และ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ 

ลักษณะอาการทั่วไป ผู้ป่วยมักจะมีไข้ประมาณ 2-3 วันและมีผื่นขึ้น ลักษณะเป็นจ้ำเลือดคล้ายกับอาการฟกช้ำ ลักษณะผื่นมีรูปคล้ายดาวกระจาย มักเกิดผื่นบริเวณลำตัวส่วนล่าง ขาและเท้า หากมีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง ผู้ป่วยจะค่อยๆซึมลง และไม่ค่อยรู้สึกตัว หากเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจทำให้การเสียชีวิตได้

การรักษาโรคไข้กาฬหลังแอ่น

สำหรับการรักษาโรคไข้กาฬหลังแอ่น เมื่อแพทย์ตรวจเลือดและพบเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค สามารถใช้การรักษาด้วยการใช้ยาปฎิชีวนะ เพื่อไปฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และรักษาด้วยการประคับประคองตามอาการอื่นๆ เพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วย

การป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น

แนวทางการป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น 2 วิธีหลัก คือ การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคและการฉีดยาต้านจุลชีพ ซึ่งนอกจากนั้นสามารถป้องกันโรคได้อย่างง่ายด้วยตนเอง คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย ดูแลความสะอาดของร่างกาย ไม่เอาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ที่มีโอกาสในการติดเชื้อโรค แนวทางการปฏิบัติตนให้ห่างไกลโรคไข้กาฬหลังแอ่น มีดังนี้

  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับ ผู้อื่น หรือ ผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ
  • เมื่อจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้ป่วยให้สวมหน้ากากอนามัย หรือ ใช้ถุงมือยางเมื่อต้องสัมผัส
  • เมื่อทราบว่าตนเอง หรือ บุตรหลาน เป็นไข้สูง ให้รีบพบแพทย์
  • ดูแที่อยู่อาศัยให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ

Last Updated on March 14, 2022