กระจับ พืชน้ำ สมุนไพร สรรพคุณและโทษ เป็นอย่างไร

กระจับ พืชน้ำ หัวกระจับเหมือนเขาควาย สามารถรับประทานแทนแป้งได้ ลักษณะของต้นกระจับเป็นอย่างไร สรรพคุณของกระจับ เช่น บำรุงกำลัง แก้ปวดท้อง บำรุงผิว บำรุงกระดูกกระจับ สมุนไพร สรรพคุณของกระจับ

ต้นกระจับ ภาษาอังกฤษ เรียก Water Chestnut ชื่อวิทยาศาสตร์ของกระจับ คือ Trapa bicornis Osbeck สำหรับชื่อเรียกอื่นๆของกระจับ เช่น กะจับ มาแง่ง พายับ เขาควาย เป็นต้น ประเทศที่มีการปลูกต้นกระจับจำนวนมาก เช่น จีน ไต้หวัน และ อินเดีย เป็นต้น ต้นกระจับแบ่งได้ 2 ประเภท คือ กระจับสองเขา และกระจับสี่เขา

ชนิดของต้นกระจับ

ต้นกระจับ จัดว่าเป็นพืชหรือวัชพืชทางน้ำ พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำทั่วไป สามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ กระจับสองเขา และ กระจับสี่เขา มีรายละเอียด ดังนี้

  • กระจับสองเขา หรือ กระจับเขาควาย มีสองสายพันธ์ คือ กระจับเขาแหลม (Horn Nut) และ กระจับเขาทู่ (Water caltrops) สำหรับกระจับเขาแหลม และกระจับเขาทู่ มีการปลูกเพื่อรับประทานผล และ เพื่อจำหน่ายผล พบปลูกมากในชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี อุทัยธานี และ นครศรีธรรมราช
  • กระจับสี่เขา มีสองสายพันธ์ คือ กระจ่อม (Jesuit Nut) และ กระจับ (Tinghara Nut) ในประเทศไม่นิยมปลูกเพื่อนำฝักมารับประทาน แต่ปลูกเพื่อใช้เป็นไม้ประดับ พบในจังหวัดนครสวรรค์

ต้นกระจับในประเทศไทย

กระจับ ในประเทศไทย มี 2 ชนิด คือ กระจับสองเขา เป็นสายพันธ์ที่นิยมรับประทานหัว รสชาติของกระจับจะมีรสหวานมัน เนื้อแน่น สามารถนำมาต้มกับน้ำตาลแล้วทำเป็นน้ำแข็งใสเป็นของหวาน และ  กระจับสี่เขา เป็นสายพันธ์ที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ต้นกระจับพบมากในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกกระจับ คือ เดือนพฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์ ของทุกปี

ลักษณะของต้นกระจับ

ต้นกระจับเป็นพืชล้มรุก พืชน้ำ ซึ่งการขยายพันธุ์กระจับสามารถใช้การปักชำ ลักษณะของต้นกระจับ มีรายละเอียด ดังนี้

  • ลำต้นกระจับ ลำต้นของกระจับจะหยั่งลึกลงดินใต้ และ ลำต้นอีกส่วนหนึ่งโผล่บนผิวน้ำ ลักษณะคล้ายต้นบัว ภายในลำต้นจะเป้นช่องอากาศ ลำต้นจะแตกไหลเลื้อยยาวเป็นข้อปล้อง
  • ใบกระจับ ลักษณะของใบมี 2 ชนิด คือ ใบใต้น้ำ และ ใบเหนือผิวน้ำ ใบเหนือผิวน้ำฐานใบกว้าง ใบเป็นรูปข้าวหลามตัด ท้องใบ ก้านใบ และเส้นใบ เป็นสีน้ำตาลปนแดง ขอบใบด้านบนเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อย ผิวใบเรียบ สีเขียว เป็นมัน และ ใบมีขนยาวปกคลุมหนาแน่น
  • ดอกกระจับ ลักษณะเป็นดอกเดี่ยว ดอกแทงออกจากซอกใบเหนือน้ำ
  • ผลของกระจับ หรือ ฝักกระจับ ฝักกระจับลักษณะเหมือนเขาควาย สองเขาหรือสี่เขา แล้วแต่สายพันธ์  ฝักเจริญเติบโตมาจากกลีบเลี้ยงของดอก เปลือกฝักแข็ง สีม่วงแดงจนถึงดำ เนื้อด้านฝักมีเนื้อสีขาว

คุณค่าทางโภชนาการของกระจับ

สำหรับการรับประทานกระจับเป็นอาหาร นิยมรับประทานฝักของกระจับ ชนิดสองเขา ซึ่งนักโภชนาการได้สึกษาคุณค่าทางโภชนาการของฝักกระจับขนาด 100 กรัม พบว่าให้พลังงานมากถึง 117 แคลอรี่ และ มีสารอาหารสำคัญ ประกอบด้วย โปรตีน 4.7 กรัม คาร์โบไฮเดรต 23.9 กรัม ไขมัน 0.3 กรัม แคลเซียม 20 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 150 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 0.8 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.01 มิลลิกรัม และ ไนอาซีน 0.6 มิลลิกรัม

สรรพคุณกระจับ

สำหรับสรรพคุณของกระจับ ด้านการบำรุงร่างกายและการรักษาโรค สามารถใช้ประโยชน์จาก ลำต้น ใบ เนื้อฝัก และ เปลือกฝัก สรรพคุณของกระจับ มีรายละเอียด ดังนี้

  • ลำต้นกระจับ สรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงครรภ์
  • ใบกระจับ สรรพคุณใช้ถอนพิษต่างๆ ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ ช่วยล้างลำไส้
  • เนื้อฝักกระจับ สรรพคุณเป็นยาชูกำลัง บำรุงร่างกาย ช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยเสริมสร้างกระดูก บำรุงครรภ์
  • เปลือกฝัก สรรพคุณแก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย

โทษของกระจับ

กระจับเป็นพืชที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งนำมารับประทาน หรือ นำมาเป็นไม้ประดับ โทษและข้อควรระวังในการใช้ประโยชน์จากกระจับ มีรายละเอียด ดังนี้

  • ผลแก่ของกระจับ จะแหลมคม ฝังอยู่ใต้โคลนตม หากเหยียบเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้
  • ฝักกระจับไม่สามารถรับประทานทั้งเปลือกได้ การนำกระจับมารับประทานให้รับประทานส่วนเนื้อในของฝักกระจับ

Last Updated on March 18, 2021